สบส.เผย คนไทย “ติดรสจัด” กินหวาน มัน เค็ม เสี่ยงเกิด NCDs
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจพฤติกรรมสุขภาพการกินหวาน มัน เค็ม ชี้คนไทยมีพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพ บริโภคอาหารรสจัดทั้งหวาน มัน และเค็ม ติดเครื่องดื่มชงหวาน และกินส้มตำถี่ มีพฤติกรรมเสี่ยงนำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ส่วนนโยบาย “นับคาร์บ” และ อสม. เห็นด้วยว่ามีส่วนสำคัญช่วยปรับพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน ดร.นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรม สบส. เผยว่า พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมของคนไทยกำลังเป็นภัยคุกคามสุขภาพ ก่อให้เกิดแนวโน้มการเจ็บป่วยด้วย NCDs อาทิ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด เพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต กรม สบส.โดยกองสุขศึกษา จึงได้ดำเนินการเฝ้าระวัง สำรวจพฤติกรรมสุขภาพการกินหวาน มัน เค็ม ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 โดยร่วมกับเครือข่ายเฝ้าระวังพฤติกรรมระดับพื้นที่ผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 52,717 คน พบคนไทยมีพฤติกรรมกินหวาน มัน เค็ม ดังนี้ 1.กินหวาน 3 ครั้งขึ้นไปต่อสัปดาห์ ร้อยละ 50.89 โดยนิยมดื่มเครื่องดื่มชงที่ใส่น้ำตาล เช่น ชานม กาแฟเย็น และน้ำผลไม้ เป็นพฤติกรรมที่พบบ่อยที่สุด (ร้อยละ 56.22) 2.กินอาหารที่มีไขมันสูง 3 ครั้งขึ้นไปต่อสัปดาห์ ร้อยละ 45.57 โดยมีเมนูยอดนิยมเป็นอาหารทอด อาหารผัดน้ำมัน และอาหารฟาสต์ฟู้ด (ร้อยละ 52.24) และ3.กินเค็ม 3 ครั้งขึ้นไปต่อสัปดาห์ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหาความดันโลหิตสูงและโรคไต ร้อยละ 49.91 โดยนิยมกินอาหารประเภทส้มตำ ยำและลาบ (ร้อยละ 65.11) ด้านนายแพทย์อดิสรณ์ วรรธนะศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า คนไทยยังมีความรู้ด้านโภชนาการอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง มีความรู้เกี่ยวกับการกินเค็มที่ถูกต้องน้อยที่สุดเพียง ร้อยละ 15.15 เมื่อเทียบกับความรู้เกี่ยวกับการกินหวานและมัน โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.54 เวลาซื้อหรือกินอาหารนอกบ้าน ไม่กล้าแจ้งแม่ค้าหรือร้านอาหารให้งดหรือลดเครื่องปรุง แม้จะรู้ว่าอาหารมีรสจัดหรือไม่ดีต่อสุขภาพ โดยผู้ตอบแบบเฝ้าระวังฯ ร้อยละ 94.86 ต่างมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่านโยบาย “นับคาร์บ” มีส่วนสำคัญที่ช่วยลดการบริโภคแป้งและน้ำตาลลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ร้อยละ 91.85 ก็เห็นว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มีบทบาทสำคัญในการรณรงค์และให้ความรู้เกี่ยวกับการลดอาหารหวาน มัน เค็ม ซึ่งมีผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ถือเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า นโยบาย “นับคาร์บ” และ อสม. ถือเป็นกลไกที่สำคัญในการส่งเสริมสุขภาพประชาชนให้ห่างไกล NCDs โดยเฉพาะการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ต่อการเลือกบริโภคอาหารอย่างปลอดภัย อีกทั้ง กรม สบส. จะนำกลไก ยุว อสม.หรือ “อาสาสร้างสุขภาพ (Gen-H)” ที่มีกว่า 20,000 คนในสถานศึกษา มาร่วมกิจกรรมรณรงค์ให้เด็กและเยาวชน เกิดความตระหนักรู้ในเรื่องของพฤติกรรมการกินหวาน มันเค็ม เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม ลดความเสี่ยงของการเกิด NCDs ในระยะยาว