ก.การท่องเที่ยว ททท. และกรม สบส. ตรวจเยี่ยมกอล์ฟ ควอรันทีน คาดสร้างรายได้ 11.4 ล้านบาท
กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ททท. และกรม สบส. ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกอล์ฟ ควอรันทีน (Golf Quarantine: GQ) ใน จ.นครนายก หลังประเดิมรับนักกอล์ฟและผู้ติดตามชาวเกาหลีเป็นกลุ่มแรก อธิบดีกรม สบส.เผยเกณฑ์ห้ามนักกอล์ฟออกรอบจนกว่าผลตรวจโควิด 19 จะพบว่าไม่ติดเชื้อ ห้ามเล่นปะปนกับนักกอล์ฟก๊วนอื่น ต้องหยิบอุปกรณ์และทำความสะอาดด้วยตนเอง คาดการณ์สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยมูลค่าประมาณ 11.4 ล้านบาท วันนี้ (2 มีนาคม 2564) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะ เข้าตรวจเยี่ยมการดำเนินงานสถานกักกันโรคในกิจการกอล์ฟ หรือกอล์ฟ ควอรันทีน (Golf Quarantine) ณ สนามกอล์ฟอาทิตยา กอล์ฟ แอนด์ รีสอร์ท จังหวัดนครนายก โดยมีนายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก และแพทย์หญิงอรรัตน์ จันทร์เพ็ญ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครนายกให้การต้อนรับ นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับนักกอล์ฟพร้อมผู้ติดตามชาวเกาหลีเข้าสู่กอล์ฟ ควอรันทีน เป็นกลุ่มแรก เมื่อกลางเดือนที่แล้ว โดยกอล์ฟ ควอรันทีน จะเป็นสถานกักกันโรคโควิด 19 ทางเลือกอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งผ่านมติศบค. แล้ว จะมีความแตกต่างจากสถานกักกันทางเลือกทั่วไป ที่มีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ โดยกอล์ฟ ควอรันทีนจะสามารถใช้สนามกอล์ฟระหว่างการกักตัวได้ ซึ่งได้จัดทำข้อกำหนดกลางมาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure : SOP) ที่เป็นไปตามมาตรการผ่อนคลาย และป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด มีเจ้าหน้าที่ของสนาม (COVID Commander) และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลคู่สัญญาเฝ้าระวังติดตามตลอด 24 ชั่วโมง คาดการณ์ว่าจะสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยมูลค่าประมาณ 11.4 ล้านบาท โดยกลุ่มนักกอล์ฟและผู้ติดตามจะต้องมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำหรือปานกลาง มีการนัดหมายล่วงหน้า มีหนังสือรับรองให้เดินทางเข้าประเทศไทยได้ (Certificate of Entry - COE) มีผลการตรวจโรคโควิด 19 ด้วยวิธี RT-PCR ก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมง มีกรรมธรรม์ประกันภัย เมื่อมาถึงประเทศไทยผู้เข้ารับการกักตัวต้องทำการตรวจโควิด 19 ทั้งหมด 3 ครั้ง คือ Day3 Day9 และ Day13 และนักกอล์ฟต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดกลางมาตรฐานขั้นตอนการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedure : SOP) อย่างเคร่งครัด นายแพทย์ธเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ใน 3 วันแรก ห้ามนักกอล์ฟออกนอกห้องพัก จนกว่าจะได้รับการตรวจ โควิด 19 และAntibody Tests จนไม่พบเชื้อจึงจะสามารถออกรอบได้ในวันถัดไป โดยสามารถฝึกซ้อมระหว่างนักกอล์ฟในก๊วนเดียวกันได้ ห้ามปะปนกับนักกอล์ฟก๊วนอื่น นักกอล์ฟต้องรับผิดชอบหยิบอุปกรณ์ด้วยตนเอง และทำความสะอาดอุปกรณ์เล่นกอล์ฟด้วยตนเองตลอดระยะเวลาการกักกันโรค ถ้ามีแคดดี้เป็นผู้ขับรถกอล์ฟให้ ต้องอยู่ในที่ที่กำหนดโดยไม่สัมผัสนักกอล์ฟ และแคดดี้ต้องดูแลลูกค้าคนเดิมตลอดระยะเวลากักกัน ส่วนมาร์แชล (ผู้ดูแลความเรียบร้อยของการเล่นเกมในสนามกอล์ฟ) จะต้องอยู่ห่างนักกอล์ฟและผู้ติดตามอย่างน้อย 2 เมตร ทั้งผู้เล่นและเจ้าหน้าที่ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ตลอดเวลา โดยนักกอล์ฟที่เข้ารับการกักตัว สามารถทำกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น ฟิตเนส สปา สระว่ายน้ำ ตามเกณฑ์ของการกักตัวและต้องปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐกำหนด ทั้งนี้ ตั้งแต่ Day15 เป็นต้นไป นักกอล์ฟและผู้ติดตามสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวที่อื่นๆได้ ทั้งนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้มีมาตรการอย่างเคร่งครัดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการระบบ Quarantine ที่มีประสิทธิภาพให้กับสนามกอล์ฟ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ *** 2 มีนาคม 2564