สบส. MOU สภากาชาดไทย ร่วมปฏิบัติการลดอุบัติการณ์การเกิดเบาหวาน
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข จับมือสภากาชาดไทย ลงนามความร่วมมือ ลดอุบัติการณ์เบาหวาน มุ่งส่งเสริมการป้องกันโรคเบาหวานเชิงรุก ด้วยการค้นหากลุ่มเสี่ยง และส่งเสริมให้ออกกำลังกายป้องกันภาวะดื้ออินซูลิน ด้วยแอปพลิเคชันสมาร์ท อสม. (Smart อสม.) และแอปเมต้ารีเวิร์ส (Meta Reverse) วันนี้ (9 กรกฎาคม 2568) ณ โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ สยามสแควร์ ดร.นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดี กรม สบส. พร้อมด้วยนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ ประธานอนุกรรมการฯ ขับเคลื่อนการรณรงค์ลดอุบัติการณ์เบาหวานในผู้มีน้ำหนักเกิน และผู้ที่เคยติดโควิด สภากาชาดไทย ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) “การบูรณาการการขับเคลื่อนการรณรงค์ลดอุบัติการณ์เบาหวานในผู้มีน้ำหนักเกิน และผู้ที่เคยติดโควิด กับการขับเคลื่อนกิจกรรม อสม. ชวนคนไทยนับคาร์บและการคัดกรองโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) “NCDs ดีได้ด้วยกลไก อสม.” ดร.นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ในประเทศไทย และทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน กรม สบส. จึงร่วมกับสภากาชาดไทย ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในวันนี้ขึ้น โดยทั้ง 2 ฝ่าย มีเป้าหมายร่วมกันในการลดการเกิดโรคเบาหวานในผู้ที่มีน้ำหนักเกิน และผู้ที่เคยติดโรคโควิด โดยบูรณาการกิจกรรมออกกำลังกายป้องกันภาวะดื้ออินซูลินด้วยแอปพลิเคชันเมต้ารีเวิร์ส กับกิจกรรม อสม.ชวนคนไทยนับคาร์บ และการคัดกรองโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยกรม สบส. จะสนับสนุนให้ อสม. ร่วมลงพื้นที่ชุมชน ชักชวนประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) เกิน 23 หรือเคยติดโรคโควิด ร่วมกิจกรรมออกกำลังกาย และบันทึกผลการออกกำลังกายในแอปพลิชันสมาร์ท อสม. และเมต้ารีเวิร์ส อย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์เป็นเวลาอย่างน้อย 12 สัปดาห์ ควบคู่กับกิจกรรม อสม. ชวนคนไทยนับคาร์บ และการคัดกรองโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวางแผนบูรณาการจัดกิจกรรมออกกำลังกายป้องกันภาวะดื้ออินซูลินในคนไทยอย่างยั่งยืน ด้าน ดร.นายแพทย์อดิสรณ์ วรรธนะศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) เป็นภาวะที่เซลล์ในร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ไม่ดี อาจด้วยกรรมพันธุ์ที่ถ่ายทอดมาในครอบครัว หรือปัจจัยเสี่ยงจากความอ้วน การมีไขมันสะสมที่หน้าท้อง การไม่ออกกำลังกาย การรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ซึ่งทำให้ ระดับความดื้อต่ออินซูลินเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน การป้องกันมิให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินนั้น สามารถทำได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้เหมาะสม อาทิ การรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ การออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอเฉลี่ยอย่างน้อย 150 นาที ต่อสัปดาห์ หรือการรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาล ในเลือด *******************